กลุ่มหัวรุนแรงทางการเมือง : ศึกษาเปรียบเทียบขบวนการยุวชนแดง (Red Guards) กับขบวนการฝ่ายขวาของไทยในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

นางสาวกมลชนก  สีล้อม

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “กลุ่มหัวรุนแรงทางการเมือง : ศึกษาเปรียบเทียบขบวนการยุวชนแดง (Red Guards) กับขบวนการฝ่ายขวาของไทยในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง แนวคิด พฤติกรรม ลักษณะการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม เหตุจูงใจในการใช้ความรุนแรง และผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ “ซ้ายจัด” นั่นคือ ขบวนการยุวชนแดง (Red Guards) ในช่วงเหตุการณ์การปฏิวัติทางวัฒนธรรมของประเทศจีนในระหว่างปี พ.ศ. 2509 – 2519 และกลุ่มประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ “ขวาจัด” ของไทยในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 อันประกอบด้วย กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล ชมรมอาชีวะเสรี กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ชมรมแม่บ้าน เป็นต้น โดยมีวิธีการศึกษาผ่านบทความและเอกสารที่เกี่ยวข้องโดยยึดแนวความคิดจากหนังสือ ข้อมูลจากบทความวิชาการ และข้อมูลจากสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวข้องเป็นเอกสารประกอบการค้นคว้า

ผลการศึกษาพบว่า แนวคิด พฤติกรรม ลักษณะการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม และผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของขบวนการยุวชนแดงของจีนในเหตุการณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมในปีช่วงปี พ.ศ. 2509 – 2519 และขบวนการฝ่ายขวาของไทยในช่วงก่อนเหตุการณ์การสังหารหมู่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีลักษณะร่วมกันและลักษณะแตกต่างกันบางประการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริบทการเมืองระหว่างประเทศและบริบทการเมืองภายในประเทศ รวมถึงจุดประสงค์ของการเคลื่อนไหว แต่ทั้งสองขบวนการเคลื่อนไหวล้วนสร้างความสูญเสียทั้งในด้านทรัพย์สินและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสังคม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย ซึ่งผลกระทบบางประการ ยังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน