การทูตวัคซีนของจีน : การขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นางสาวณัชชา ม่วงศิริกุล

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่อง “การทูตวัคซีนของจีน : การขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการขยายอิทธิพลของจีน และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการทูตวัคซีน โดยมีวิธีการศึกษาจากหลักฐานเอกสารประกอบด้วยเอกสารภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ทั้งรูปแบบงานวิจัย บทความและการรวบรวมข้อมูลทางสื่อออนไลน์

จากการศึกษาพบว่า ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจไม่ได้ราบรื่นนัก แต่จีนได้เล็งเห็นแล้วว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้องพึ่งพาจีนอีกมาก ในการพัฒนาเศรษฐกิจของตน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด จีนจึงตัดสินใจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ขยายอำนาจอ่อน (soft power) ในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการทูตสาธารณสุข หรือเรียกว่า การทูตวัคซีน

การทูตวัคซีน เป็นนโยบายที่นำวัคซีนมาเป็นเครื่องมือทางการทูต โดยเข้าไปให้ความช่วยเหลือกับประเทศต่าง ๆ ทั้งด้านวัคซีน หน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน ทีมแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ นอกจากนโยบายนี้จะมีจุดประสงค์หลักเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของจีน จากต้นเหตุของการแพร่เชื้อ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือกับนานาประเทศ เป็นประเทศที่เป็นผู้นำด้านสุขภาพ และเพื่อโชว์ศักยภาพทางด้านความก้าวหน้าในเทคโนโลยีของจีน นโยบายนี้ยังสามารถช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ วัคซีนของจีนจึงถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดให้กับผู้คนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชากรหลายล้านคนในภูมิภาคนี้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ของจีน

ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของการทูตวัคซีน หลายประเทศมองว่าเแฝงมาด้วยการขยายอิทธิพลของจีน โดยจีนมีการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในบางประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศที่จีนได้เข้าไปตั้งฐานการผลิตก็ได้ผลประโยชน์เช่นกันกล่าวคือ ประเทศเหล่านั้นจะมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ไม่ต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนวัคซีน ทำให้สามารถจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การประสบความสำเร็จการควบคุมการระบาดของโรคโควิด