ภาพแทนของอาหารญี่ปุ่น กรณีศึกษารายการโทรทัศน์ Maki’s Magic Restaurant (มหัศจรรย์ คนเข้าครัว) และ Ishi-Chan’s Extraordinary Gourmet Show (อิชิจังตะลุยกิน)

นางสาวนภัทร ธนเศรษฐเดชา

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง ภาพแทนของอาหารญี่ปุ่น กรณีศึกษา รายการโทรทัศน์Maki’s Magic Restaurant (มหัศจรรย์คนเข้าครัว) และ Ishi-Chan’s Extraordinary Gourmet Show (อิชิจังตะลุยกิน) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพแทนของอาหารญี่ปุ่นและรสนิยมของวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น โดยใช้แนวความคิดการสร้างภาพแทน (representation) ของ สจ๊วต ฮอลล์ และแนวคิดรสนิยม (taste) ของ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ มาใช้ในการวิเคราะห์

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ในรายการจะนำเสนอภาพแทนอาหารของวัฒนธรรมเมืองและชนบท ซึ่งวัฒนธรรมอาหารเมืองมีภาพแทนความรวดเร็ว ภาพแทนความแปลกใหม่ ภาพแทนความสะดวกสบาย และภาพแทนความหรูหรา เพื่อตอบสนองความเร่งรีบและวิถีชีวิตของคนเมือง ในขณะที่วัฒนธรรมอาหารชนบทมีภาพแทนความเรียบง่าย ภาพแทนสุขภาพ ภาพแทนความหรูหรา และภาพแทนความแปลกใหม่ เห็นได้จากลักษณะของร้าน เมนูอาหาร ภาชนะที่ใช้ใส่อาหาร รวมถึงการตกแต่งจานอีกด้วย

และรสนิยมวัฒนธรรมอาหารของคนเมือง พบว่า มีรสนิยมแบบความจำเป็น (taste of necessity) นำเสนอโดยกลุ่มชนชั้นกลาง โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน ที่มีรูปแบบการรับประทานอาหารที่ง่ายและธรรมดา ส่วนมากเป็นอาหารที่ใช้ความรวดเร็วในการทำ เน้นปริมาณ เสิร์ฟแบบเป็นชุดเพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา ในขณะที่รสนิยมวัฒนธรรมอาหารของคนชนบท มีรสนิยมแบบหรูหรา (taste of luxury) นำเสนอโดยกลุ่มผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดี และคนในท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพเกษตรกร และเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารเอง ถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารที่หาได้จากในท้องถิ่น ได้จากแหล่งธรรมชาติ แต่ก็เป็นของที่หายากและราคาสูง มีบางฤดูกาล อาหารจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ตกแต่งจานชามได้อย่างประณีต ภาชนะที่ใช้มีลวดลาย และมีการแบ่งแยกประเภทที่ใส่อาหารไว้อย่างชัดเจน

บทความวิจัยฉบับเต็ม