ทำเลที่ตั้งและปัจจัยที่ส่งผลให้คนไทยเข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีน (ฝังเข็ม) กรณีศึกษา : กรุงเทพมหานคร

นางสาวสุทธิกานต์ มาลยาภรณ์

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์ “ทำเลที่ตั้งและปัจจัยที่ส่งผลให้คนไทยเข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีน (ฝังเข็ม) กรณีศึกษา : กรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทำเลที่ตั้งที่ของโรงพยาบาลและคลินิกแพทย์แผนจีน (ฝังเข็ม) ในกรุงเทพมหานคร และเพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้คนไทยในกรุงเทพมหานครเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็ม โดยรวบรวมจากข้อมูลทางทุติยภูมิและเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ โดยมีกลุ่มประชากรเป็นชาวไทยที่เคยเข้ารับการรักษาหรือกำลังเข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีนที่อยู่ในเขตทำเลที่ตั้งของพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 50 คน จากนั้นนำมาสรุปและคำนวณด้วยโปรแกรม Microsoft Excel ในรูปแบบตาราง โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในการวิเคราะห์ข้อมูล

ผลการศึกษาพบว่า มีจำนวนโรงพยาบาลและคลินิกแพทย์แผนจีน (ฝังเข็ม) ในกรุงเทพมหานครจำนวน 254 แห่ง เขตที่มีโรงพยาบาลและคลินิกแพทย์แผนจีน (ฝังเข็ม) มากที่สุด คือ เขตคลองเตย จำนวน 16 แห่ง และย่านที่มีโรงพยาบาลและคลินิกแพทย์แผนจีน (ฝังเข็ม) มากที่สุด คือ ย่านชุมชนหรือตัวเมือง จำนวน 115 แห่ง

ด้านปัจจัยภายในที่ส่งผลให้คนไทยเข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีน (ฝังเข็ม) ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยภายในด้านความต้องการรักษาเพื่อเสริมสุขภาพที่ส่งผลให้เข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีนมากที่สุด คือ ความต้องการปรับความสมดุลภายในร่างกาย ส่วนปัจจัยภายในด้านความต้องการรักษาโรคที่ส่งผลให้เข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีนมากที่สุด คือ ความต้องการรักษาอาการระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อ เช่น ปวดเข่า ปวดคอ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดข้อศอก ปวดไหล่ รูมาตอยด์ เป็นต้น ส่วนปัจจัยภายในด้านความต้องการรักษาผิวพรรณบนใบหน้าที่ส่งผลให้เข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีนมากที่สุด คือ ความต้องการรักษาเพื่อยกกระชับใบหน้า และปัจจัยภายในด้านความสนใจเข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีน (ฝังเข็ม) เป็นพิเศษที่ส่งผลให้เข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีนมากที่สุด คือ มีความสนใจในรูปแบบวิธีการรักษาแบบแพทย์แผนจีนโบราณ

ด้านปัจจัยภายนอกที่ส่งผลให้คนไทยเข้ารับการรักษาแพทย์แผนจีน (ฝังเข็ม)  ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยภายนอกด้านคุณภาพของการบริการ และด้านสุขอนามัยและความสะอาดอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนปัจจัยภายนอกด้านภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลหรือคลินิก ด้านสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลหรือคลินิก รวมทั้งด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ในระดับมาก ส่วนปัจจัยภายนอกด้านมีบุคคลอื่นแนะนำหรือส่งเสริมให้มารักษาด้วยการฝังเข็มอยู่ในระดับปานกลาง และปัจจัยภายนอกด้านการโฆษณาของโรงพยาบาลหรือคลินิกอยู่ในระดับน้อย

บทความวิจัยฉบับเต็ม