การกดขี่ทางเพศในวงการกีฬาของประเทศเกาหลีใต้

นางสาวสุดารัตน์ จันทเชื้อ

บทคัดย่อ

สารนิพนธ์เรื่องการกดขี่ทางเพศในวงการกีฬาของประเทศเกาหลีใต้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีกดขี่ทางเพศในวงการกีฬาของประเทศเกาหลีใต้ และเพื่อศึกษาลักษณะและการผลิตซ้ำของระบบชายเป็นใหญ่ในวงการกีฬาของประเทศเกาหลีใต้ โดยมีวิธีการศึกษาการกดขี่ทางเพศในวงการกีฬาของประเทศเกาหลีใต้ผ่านแนวความคิดเพศภาวะ แนวความคิดเพศภาวะ และแนวความคิดการจ้องมองชาย (Male gaze)

ผลการศึกษาพบว่าการรูปแบบการกดขี่ในวงการกีฬามี 3 แบบ คือ 1.ร่างกาย นักกีฬาจะถูกควบคุมร่างกายตั้งแต่ระบบคัดเลือกเข้าเป้นนักกีฬา ตลอดจนการฝึกซ้อมที่ต้องทำตามที่ผู้ฝึกสอนกำหนด และควบคุมอาหาร ดูแลร่างกายไม่ได้เกินมาตรฐาน 2.เศรษฐกิจ ผลตอนแทนที่นักกีฬาหญิงได้รับจะน้อยกว่านักกีฬาชาย และ 3.การเมือง นักกีฬาทุกคนต้องฟังและปฏิบัติตามคำพูดของผู้ฝึกสอนอย่างเคร่งครัด หากต้องการเสนอความคิดเห็นจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการพอสมควร โดยวิธีการกดขี่ที่มี 2 แบบ คือ ทางตรง เป็นการข่มขู่ กดดันโดยตรงกับตัวนักกีฬา และทางอ้อม เป็นการข่มขู่ กดดันกับบุคคลที่ใกล้ชิดกับนักกีฬา เช่น ผู้ปกครอง แฟนคลับ เป็นต้น

ลักษณะและการผลิตซ้ำของระบบชายเป็นใหญ่ในวงการกีฬาของประเทศเกาหลีใต้ เกิดจากการที่ให้อำนาจแก่ผู้ชายมากเกินไป เพราะมองเพศหญิงด้อยกว่า โดยอ้างว่าผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรง ชอบทำกิจกรรมที่ใช้พละกำลังได้ดีกว่า กีฬาจึงเป็นกิจกรรมของเพศชาย มีอารมณ์หนักแน่น ตัดสินใจได้แม่นยำ นำมาซึ่งการกดขี่ที่เกิดขึ้นกับนักกีฬาทั้งหญิงและชาย โดยผลิตซ้ำผ่าน สโมสร ผู้ฝึกสอน และนักกีฬา ในขณะที่อุตสาหกรรมสื่อกีฬาจะผลิตซ้ำผ่าน ผู้บันทึกรายการ ผู้ดำเนินรายการ และนักกีฬา