กลวิธีการแปลชื่ออาหารเกาหลีเป็นภาษาไทย: กรณีศึกษาร้านอาหารเกาหลี “ดูเร” ในประเทศไทย

นางสาวกรกมล ไตรองค์ถาวร

บทคัดย่อ

บทความวิจัย “กลวิธีการแปลชื่ออาหารเกาหลีเป็นภาษาไทย: กรณีศึกษาร้านอาหารเกาหลี “ดูเร” ในประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการแปลชื่ออาหารเกาหลีเป็นภาษาไทยและศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการแปลชื่ออาหารเกาหลีเป็นภาษาไทย มีวิธีการศึกษาโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายชื่ออาหารภาษาเกาหลีที่แปลเป็นภาษาไทยของร้านอาหารเกาหลี ดูเร ตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 80 ชื่อ จากนั้นนำมาวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีการแปล

ผลการศึกษาพบว่า กลวิธีการแปลชื่ออาหารเกาหลีเป็นภาษาไทยมี 7 กลวิธี เรียงลำดับตามกลวิธีที่พบมากที่สุดไปจนถึงน้อยที่สุด ได้แก่ 1) กลวิธีการแปลตรงตัว 2) กลวิธีการแปลแบบผสม 3) กลวิธีการแปลตามลักษณะอาหาร 4) กลวิธีการทับศัพท์ 5) กลวิธีการตั้งชื่อใหม่ 6) กลวิธีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และ 7) กลวิธีการแปลด้วยชื่อเฉพาะ ส่วนด้านปัจจัยที่ส่งผลต่อการแปลชื่ออาหารเกาหลีเป็นภาษาไทยพบ 4 ปัจจัยหลัก เรียงลำดับจากปัจจัยที่พบมากที่สุดจนถึงน้อยที่สุด ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านความหมาย 2) ปัจจัยด้านวัฒนธรรม 3) ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม และ 4) ปัจจัยผสม

จะเห็นได้ว่าการแปลชื่ออาการเกาหลีเป็นภาษาไทยนั้นต้องอาศัยกลวิธีที่หลากหลาย ทั้งกลวิธีหลัก กลวิธีย่อย และกลวิธีผสม ไม่สามารถใช้กลวิธีใดเป็นกลวิธีหลักได้ ทั้งนี้เนื่องจากความแตกต่างของวัฒนธรรมอาหารของทั้งสองประเทศ จึงทำให้ผู้แปลต้องคำนึงถึงความเข้าใจของผู้รับสารในขณะเดียวกันก็ต้องคงความเป็นวัฒนธรรมอาหารเกาหลีไว้ในชื่อ เพื่อถ่ายทอดความหมายต่างวัฒนธรรมได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน