ศึกษากลวิธีการแปลภาพพจน์ในนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” และ “คู่กรรม” จากภาษาไทยเป็นภาษาเวียดนาม

นางสาวทัตพร พรุเพชรแก้ว

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง ศึกษากลวิธีการแปลภาพพจน์ในนวนิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” และ “คู่กรรม” จากภาษาไทยเป็นภาษาเวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพพจน์ที่ปรากฏในนวนิยายและกลวิธีการแปลภาพพจน์จากนวนิยายต้นฉบับในฉบับแปลภาษาเวียดนามโดยใช้แนวคิดกลวิธีการแปลสำนวนและภาพพจน์ของเบเคอร์ (เบเคอร์, 2011) การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากนวนิยาย ข้างหลังภาพ เขียนโดย ศรีบูรพา และนวนิยายคู่กรรม เขียนโดยทมยันตี คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างภาษาภาพพจน์ได้ 174 ครั้ง พบประเภทภาพพจน์ 11 ประเภท เรียงจากประเภทที่มากที่สุดไปน้อยที่สุดได้แก่ อุปมา อติพจน์ สัทพจน์ อุปลักษณ์ บุคลาธิษฐาน การอ้างถึง สัญลักษณ์ นามนัย สมญานาม ปฏิปุจฉา และปฏิพจน์หรืออรรถวิภาค และพบการใช้กลวิธีการแปลตามเกณฑ์ของกลวิธีการแปลสำนวนและภาพพจน์ 6 วิธี เรียงจากลำดับที่พบการแปลมากที่สุดไปน้อยที่สุด ได้แก่ กลวิธีการแปลแบบใช้รูปแบบและความหมายตรงตัว กลวิธีการแปลแบบใช้สำนวนที่มีความหมายเหมือนแต่รูปแบบต่าง กลวิธีการแปลแบบละการเล่นสำนวน กลวิธีการแปลแบบถอด กลวิธีการแปลแบบละสำนวนและกลวิธีการแปลแบบการยืมสำนวน

จากการศึกษาผู้วิจัยพบว่าภาษาไทยและภาษาเวียดนามเป็นภาษาที่สามารถใช้แปลและเข้าใจความหมายกันโดย ซึ่งภาษาจะไม่ต่างกันจนแปลไม่ได้ อ้างจากการศึกษาการแปลที่ผู้วิจัยพบกลวิธีที่ใช้มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กลวิธีการแปลแบบใช้รูปแบบและความหมายตรงตัว กลวิธีการแปลแบบใช้สำนวนที่มีความหมายเหมือนแต่รูปแบบต่าง กลวิธีการแปลแบบละการเล่นสำนวน