เพศภาวะในมังงะวายและอะนิเมะวาย

โดย นางสาวจันทร์จิรา ปัญญาภวกุล

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “เพศภาวะในมังงะวายและอะนิเมะวาย” นั้น มีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อศึกษาความเป็นมาและลักษณะทางวัฒนธรรมของYaoi และ Yuri รวมถึงวิเคราะห์ Yaoi และ Yuri ในด้านเพศภาวะและเพศวิถี โดยมีวิธีการศึกษาเก็บข้อมูลแบบทุติยภูมิจากเอกสารที่เป็นสื่อตีพิมพ์ เอกสารที่ไม่ได้ตีพิมพ์ (วิทยานิพนธ์) และอินเทอร์เน็ต และมีการนำแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) และแนวคิดเควียร์ (Queer Theory) มาเป็นกรอบความคิดในการวิเคราะห์ข้อมูล

ผลการวิจัยพบว่าความเป็นมาของ Yaoi (ยาโอ้ย/ยะโออิ) นั้น สามารถแบ่งออกได้ 3 ยุคด้วยกัน คือ ยุคบุกเบิก (ช่วงปี1960) โดยในยุคนี้ได้ปรากฏภาพวาดความสัมพันธ์ทางกายเชิงสังวาสระหว่างเพศชายกับเพศชายด้วยกัน โดยไม่มีเนื้อเรื่องเล่า/บรรยายแต่อย่างใด เป็นเพียงภาพวาดที่ใช้ในการระบายความอัดอั้นของผู้หญิงญี่ปุ่นเท่านั้น ต่อมาในยุคการเปลี่ยนแปลง(ช่วงปลายปี1970) คาว่า “Yaoi” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยเป็นคำที่ย่อมาจาก Yamanasi Ochinashi Iminashi (ยามะนะฉิ โอฉินาชิ อิมินาชิ) แปลว่า ไม่มีเนื้อเรื่องหลัก ไม่มีความหมาย ไม่มีไคลแมกซ์ ซึ่งเป็นภาพวาดที่แสดงถึงความสัมพันธ์ทางกายในเชิงสังวาสระหว่างชายกับชายด้วยกัน โดยเป็นการล้อเลียนโครงสร้างของงานเขียนโคลงจีนยุคเก่า และในยุคนี้ก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่ม “Boy Love” ขึ้นด้วย ซึ่งYaoi ได้ดำเนินมาจนถึงขีดสุดในยุคเผยแพร่ (ช่วงปี1980-ปัจจุบัน) ในยุคนี้คำว่า Yaoi ได้หมายความถึงงานการ์ตูนล้อเลียนที่มีเนื้อเรื่องบรรยายประกอบด้วย โดยเป็นการ์ตูนที่มีผู้ชายสองคนเป็นตัวเอกและเน้นความสัมพันธ์ทางเพศเป็นเนื้อหาหลัก เป็นการ์ตูนที่กล่าวถึงความรักที่เหนือกว่า (Superior) ความรักระหว่างคนต่างเพศทั่วไป กล่าวคือ เป็นความรักที่เกิดขึ้นกับเพศเดียวกัน (รักร่วมเพศ) โดยในยุคนี้ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการนำมาสร้างเป็นอะนิเมะอีกด้วย

สำหรับความเป็นมาของ Yuri (ยูริ) นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ยุคเช่นกัน คือยุคบุกเบิก ในยุคนี้การ์ตูน Yuri ถูกใช้ในลักษณะที่หมายถึงการ์ตูนโป๊ที่แสดงถึงสัมพันธภาพทางกายระหว่างเพศหญิงกับเพศหญิงด้วยกัน เพื่อความบันเทิงของผู้ชมเพศชายเท่านั้น (พูดง่ายๆ ก็คือในระยะแรก การ์ตูน Yuri เป็นซับเซ็ทหนึ่งของการ์ตูนโป๊ของผู้ชายนั่นเอง) ต่อมายุคการเปลี่ยนแปลง (ช่วงปี1990) Yuri ได้กลายเป็นการ์ตูนที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิงกับเพศหญิงในลักษณะตั้งแต่มิตรภาพความผูกพันธ์ระหว่างกัน (Tender relationship หรือ Intense emotional connections) ความรักที่โรแมนติค (Romantic Love) ไปจนกระทั่งถึงการมีสัมพันธ์ทางกายร่วมกันระหว่างเพศหญิงกับเพศหญิงด้วยกันอย่างเด่นชัด (Explicit Sex Scenes) ซึ่งโดยส่วนใหญ่ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ความผูกพันธ์ มิตรภาพ ความรักระหว่างกันในรั้วโรงเรียนสตรี ความสัมพันธ์จะเป็นลักษณะ รุ่นพี่ (Senpai) X รุ่นน้อง (Kouhai) หลังจากนั้นในช่วงยุคเผยแพร่ (ช่วงปี 1990 – ปัจจุบัน) ได้มีการตีพิมพ์เกิดขึ้น โดยมีโรงพิมพ์เฉพาะซึ่งก็คือ โคดันชะ และ โชงะกุกัน ซึ่งเป็นโรงพิมพ์เดียวกันกับที่ตีพิมพ์ Yaoi โดยเรื่องแรกที่ตีพิมพ์ คือ เรื่อง Dirty Pair คู่ยูริและเคย์ และเรื่อง Maria- sama ga Miteru ยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูน หรือที่เราเรียกว่า อะนิเมะ ซึ่งในยุคนี้คำว่า Yuri ยังได้ถูกแพร่หลายไปยังอเมริกาและยุโรปอีกด้วย โดยทั้ง Yaoi และ Yuri ต่างก็มีลักษณะทางวัฒนธรรมที่ปรากฏให้เห็นร่วมกัน โดยแบ่งออก 2 ประเภท คือ สังคมประเพณี ซึ่งได้แก่ ด้านความเชื่อ ด้านศาสนา และด้านวัฒนธรรม และสังคมสมัยใหม่ ซึ่งได้แก่ ชีวิตวัยรุ่นในสังคมญี่ปุ่น ครอบครัวญี่ปุ่นรูปแบบใหม่ (ยอมรับบทบาทWorking Women) ความหลากหลายทางเพศ ทัศนคติและการยึดติดภาพลักษณ์อาชีพกลางคืน ความเป็นวัฒนธรรมนิยม (Pop Culture)

ทั้ง Yaoi และ Yuri ต่างก็มีความแตกต่างด้านเพศภาวะและเพศวิถี ในด้านเพศภาวะของ Yaoi นั้น ฝ่ายเคะ (บทบาทหญิง) ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอาชีพที่เกี่ยวกับบาร์เหล้า จึงมีภาพลักษณ์สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าและบางเรื่องก็มีการยั่วยวนฝ่ายเมะ (บทบาทชาย) ก่อนด้วย ส่วนฝ่ายเมะ (บทบาทชาย) มักจะประกอบอาชีพที่เป็นสายอาชีพของผู้หญิง เช่น นักเขียน อาจารย์สอนด้านภาษา/วรรณกรรม บางเรื่องฝ่ายเมะ (บทบาทชาย) ก็ชอบเล่นตุ๊กตา ส่วนเพศภาวะของ Yuri นั้น ฝ่ายเคะ (บทบาทหญิง) ก็มีลักษณะเหมือนกับผู้หญิงทั่วไป แต่มักจะทำอาหารและงานบ้านไม่เก่ง/ไม่คล่องแคล่วเท่าอีกฝ่าย ส่วนฝ่ายเมะ (บทบาทชาย) จะมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายเคะ (บทบาทหญิง) คือ มักจะทำอาหารและงานบ้านเก่ง/มีความคล่องแคล่ว และบางเรื่องจะเป็นฝ่ายไปพึ่งพิงฝ่ายเคะ (บทบาทหญิง) เสียเอง ส่วนในด้านเพศวิถีของ Yaoi นั้น ส่วนใหญ่ฝ่ายเมะ (บทบาทชาย) จะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ไม่ว่าจะเป็นการจีบ การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ แต่ฝ่ายเคะ (บทบาทหญิง) จะเป็นฝ่ายบอกเลิก/หย่าร้างก่อน สำหรับเพศวิถีของ Yuri นั้น ไม่มีการกำหนดตายตัวว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ทั้งในแง่ของการจีบ การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ จะเป็นลักษณะของการผลัดกันรับผลัดกันรุกมากกว่า และมักจะมีการใช้เซ็กซ์ทอย (Sex Toy) ร่วมด้วยในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ร่วมกัน

เราจะเห็นได้ว่าเพศภาวะและเพศวิถี เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความไม่เท่าเทียม/ความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ในแง่ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (Homosexuality) ที่สามารถเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในสังคม ในแง่ของการให้นิยามความเป็นหญิง ความเป็นชายที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และที่สำคัญมุมมองเกี่ยวกับเรื่อง “เพศ” นั้นมีการเปิดกว้างให้เป็นพื้นที่สาธารณะมากขึ้น โดยมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเพศเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในสังคมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นมังงะวายและอะนิเมะวาย เซ็กซ์ทอย หนังโป๊ เป็นต้น นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่าสังคมญี่ปุ่นได้เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของเพศภาวะคือ การยอมรับบทบาทผู้หญิงเก่งทั้งในบ้านและนอกบ้าน (Super Women) และผู้หญิงทางานนอกบ้าน (Working Women) และการที่ผู้ชายหันมาทางานในบ้าน และในแง่ของเพศวิถี คือ ความหลากหลายทางเพศที่เห็นได้ชัดมากขึ้นในสังคม แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ก็ยังคงแฝงไว้ซึ่งความคิด ความเชื่อแบบเดิมๆ อยู่ เนื่องมาจากการปลูกฝังความคิดของผู้หญิงญี่ปุ่น ที่ส่วนใหญ่ก็ยังคงยึดถือคุณค่าเดิมของความเป็นผู้หญิงอยู่ นั่นคือ การเป็นภรรยาและโอคุซังที่ดีนั่นเอง และลึกๆ แล้วสังคมญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถเปิดรับกลุ่มคนรักร่วมเพศได้อย่างแท้จริง

ดาวน์โหลด บทความวิจัย
icon-pdf