นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีตั้งแต่หลังการปกครองของญี่ปุ่น ค.ศ. 1946 ถึงทศวรรษ 1990

โดย นางสาวณัฐกร สอนสอาด บทคัดย่อ บทความวิชาการเรื่อง นโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีตั้งแต่หลังการปกครองของญี่ปุ่น ค.ศ. 1946 ถึงทศวรรษ 1990 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษานโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผลการศึกษาพบว่านโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของรัฐบาลที่ปกครองในช่วงนั้น โดยรัฐบาลเริ่มเข้าไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างจริงจังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในช่วงนั้นเป็นการปกครองโดยรัฐบาล อีซึงมัน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับวงการภาพยนตร์ เพราะรัฐบาลได้ออกนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยการยกเว้นภาษีแก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ต่อมาในสมัยรัฐบาลปาร์ค จุงฮี อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ซบเซาลง เนื่องจากรัฐบาลได้มีนโยบายควบคุมและตรวจสอบภาพยนตร์อย่างเข้มงวด โดยห้ามมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด็ดขาด ภายหลังรัฐบาลปาร์ค จุงฮีสิ้นสุดลง อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเริ่มมีอิสระมากขึ้น มีการเข้ามาของภาพยนตร์ต่างประเทศจำนวนมาก จนทำให้วงการภาพยนตร์เกาหลีเกือบจะต้องปิดตัวลง รัฐบาลคิม    แดจุง จึงได้ออกกฎหมาย ยกเลิกการตรวจสอบภาพยนตร์ และให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีการจัดตั้งองค์กรต่างๆเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟื้นตัวขึ้นมาและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ปัจจัยที่ทำให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวหลังสงครามเกาหลี ตั้งแต่ ค.ศ. 1953 – 1997

โดย นางสาวฐิฌาภรณ์ อินทรักษ์ บทคัดย่อ บทความวิชาการเรื่องปัจจัยที่ทำให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวหลังสงครามเกาหลี ตั้งแต่ ค.ศ. 1953 – 1997 มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อศึกษาปัจจัยภายใน และภายนอกที่ทำให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวช่วงหลังสงครามเกาหลีตั้งแต่ ค.ศ. 1953 – 1997 ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยภายในที่มีส่วนช่วยให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวช่วงหลังสงครามเกาหลี มีด้วยกัน 2 ประการคือนโยบายของรัฐบาล และอุปนิสัยประจำชาติ นโยบายของรัฐบาลมีส่วนช่วยฟื้นฟูประเทศเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ โดยเริ่มแรกของการพัฒนาประเทศนั้นคือมีการสร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังมีการออกนโยบายเพื่อกำหนดจุดมุ่งหมายของการพัฒนาให้ชัดเจน ส่วนอุปนิสัยประจำชาติที่มีส่วนช่วยให้เกาหลีฟื้นตัวมาจากคนเกาหลีมีความขยัน ความเป็นหนึ่งเดียวกันพร้อมทำงานหนักเพื่อพัฒนาประเทศของตนเอง ปัจจัยภายนอกที่มีส่วนช่วยให้สาธารณรัฐเกาหลีฟื้นตัวช่วงหลังสงครามเกาหลีคือ ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มิตรประเทศที่คอยสนับสนุนการพัฒนาต่างๆด้วยการส่งเงิน และทรัพยากรที่จำเป็นมาช่วย อีกทั้งยังส่งนักวิชาการมาช่วยคนเกาหลีเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การถ่ายทอดอำนาจของตระกูลคิม (ค.ศ. 1948-2011)

โดย นางสาวกมลชนก ศรีเนตร บทคัดย่อ บทความเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ ศึกษาประวัติผู้นำเกาหลีเหนือ ตั้งแต่สมัยคิม อิลซองถึงคิม จองอึน และการถ่ายทอดอำนาจของผู้นำเกาหลีเหนือ จากการศึกษาพบว่า ประเทศเกาหลีเหนือปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ มีอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียว คือ ตระกูลคิม ทำให้เกาหลีเหนือถูกมองว่าถูกปกครองในระบอบคิม โดยเริ่มจากคิม อิลซอง ผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือที่ตระหนักถึงความไม่แน่นอนของอำนาจทางการเมืองจึงใช้วิธีการถ่ายทอดอำนาจเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบอบและตนเอง จำแนกได้ 2 ประการ คือ 1) การสร้างฐานอำนาจทางการเมือง โดยให้บุคคลที่ภักดีและมีความสามารถดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง 2) การกำหนดทายาททางการเมือง โดยเจาะจงบุคคลที่มาจากตระกูลเดียวกันและมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดคนต่อไปของประเทศ นอกจากนี้ยังใช้สื่อต่างๆในการสร้างภาพลักษณ์ของผู้นำให้ประชาชนจงรักภักดีและเทิดทูนในตัวผู้นำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบอบการปกครองของตระกูลคิมไม่ล่มสลายไป ดาวน์โหลด บทความวิจัย

อิทธิพลของค่ายเพลง FNC Entertainment ต่อวงการดนตรีเกาหลี กรณีศึกษา วง CNBLUE

โดย นางสาวพัชราภรณ์  แก่นน้อย บทคัดย่อ สารนิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาเอกลักษณ์และแนวเพลงของค่าย FNC Entertainment และศึกษากลยุทธ์ทางการตลาดของค่ายในการสร้างศิลปินออกสู่ตลาดวงการเพลงในประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงศึกษากลยุทธ์ของค่ายในการสร้างวง CNBLUE จนประสบความสำเร็จในระดับสากล การศึกษาในครั้งนี้ศึกษาของมูลจากการลงพื้นที่ของผู้วิจัย และข้อมูลจากแบบสอบถามจากสถานที่จริง และแบบสอบถามทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์อิทธิพลของค่ายเพลง FNC Entertainment ต่อวงการดนตรีเกาหลีใต้ โดยศึกษาผ่านวง CNBLUE เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 บท บทแรกเป็นบทนำ กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ ขอบเขตของการศึกษา วิธีการดำเนินการศึกษา และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ บทที่ 2 กล่าวถึงประวัติวง CNBLUE บทที่ 3 ว่าด้วย เอกลักษณ์ที่ทำให้ CNBLUE ประสบความสำเร็จ และสาเหตุที่ทำให้ CNBLUE ประสบความสำเร็จ รวมถึงอัตลักษณ์ของ CNBLUE ต่อศิลปินวงดนตรีกลุ่มอื่นๆ และบทที่ 4 ซึ่งเป็นบทสรุปถึงความเป็นมา สาเหตุ รวมถึงบทบาทต่างๆที่ค่ายเพลง FNC Entertainment มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีเกาหลี โดยหวังว่าการศึกษาในครั้งนี้จะช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจถึงความเป็นมา … Read more

วิเคราะห์การพัฒนาการแสดง (Live Performance/Music Performance) กรณีศึกษา วง Perfume

โดย นางสาวปภัสรา พรรัตนโชติสกุล บทคัดย่อ บทความวิจัยเรื่องวิเคราะห์การพัฒนาการแสดง (Live Performance/Music Performance) กรณีศึกษาวง Perfume มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาของการแสดง เพื่อศึกษาผลงานการแสดงสด ของวง Perfume เพื่อศึกษารูปแบบการจัดแสดง การใช้เทคนิคบนเวที การให้ความบันเทิงผู้ชมระหว่างการแสดง ของวง Perfume เพื่อศึกษา วิเคราะห์ การพัฒนาผลงานการแสดงสด ของวง Perfume ผลการศึกษาพบว่า การแสดงของวง Perfume ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงส่งผลให้การแสดงมีการพัฒนา จากการที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทำให้ดนตรีและเทคนิคบนเวทีมีความหลากหลายและพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด การแสดงคอนเสิร์ตในยุคศริสต์ศตวรรษที่ 21 จึงไม่ใช่เพียงแค่การร้องเพลงเท่านั้น แต่ยังมีทั้งการเต้น การให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม การใช้เทคนิคต่างๆบนเวทีในการนำเสนอ ทั้งการใช้ฮอโลแกรม (Hologram) การใช้เทคนิคพิเศษ (Special Effect) เป็นต้น เพื่อช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมได้เข้าสู่โลกของการแสดงอย่างเต็มที่ และการใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่ที่เป็นผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้วงการเพลงได้เติบโตขึ้นมาในญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว ดาวน์โหลด บทความวิจัย

จุดเปลี่ยนชีวิตไอดอลเคป็อบสู่เจ้าของค่ายดนตรีฮิปฮอป : กรณีศึกษา ศิลปิน เจย์ ปาร์ค

โดย นางสาวธนาธิป คงสุคนธ์ บทคัดย่อ ประเทศเกาหลีใต้ได้ส่งเสริมและสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงให้เติบโตและเป็นตัวแทนนำเสนอวัฒนธรรมของตนเองในตลอดช่วงระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา กระแสโคเรียนเวฟก่อให้เกิดกระแสดนตรีแนวเคป็อบที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทำให้แนวดนตรีอื่นๆในเกาหลีได้นำเสนอสู่สายตาโลก เช่น แนวดนตรีแนวเค-ฮิปฮอป ที่ในปัจจุบันสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาจนเป็นที่นิยมในระดับเดียวกับดนตรีเคป็อบ และยังสามารถเติบโตในตลาดเพลงอเมริกาได้อีกด้วย เจย์ ปาร์คเป็นศิลปินแนวเค-ฮิปฮอปที่เติบโตมาจากการเป็นไอดอลในวงการเคป็อบ เขาต้องต่อสู้กับกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมที่รุนแรงในสังคมเกาหลี กว่าที่เขาจะสามารถกลับมามีจุดยืนในวงการดนตรีเกาหลี จนในที่สุดเขาก็ได้ผันตัวเองมาเป็นเจ้าของค่ายดนตรีฮิปฮอปที่มีชื่อว่า AOMG (ABOVE ORDINARY MUSIC GROUP) ที่ซึ่งสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างงดงามในวงการเพลงเกาหลีในปัจจุบัน ด้วยอัตลักษณ์และแนวคิดจึงสามารถทำให้ดนตรีของเจย์ ปาร์คและ AOMG สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จด้วยดี ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ความสำเร็จของศิลปินกลุ่มซูเปอร์จูเนียร์ (Super Junior)

โดย นางสาวณัฏฐิณี  ชัยศิริพานิช บทคัดย่อ ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมส่งออกทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าวัฒนธรรมประเทศตนสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ สินค้าทางวัฒนธรรมของประเทศเกาหลีใต้เป็นหลัก ๆ ได้แก่ ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เพลง ฯลฯ โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นอย่างมาก นั่นก็คืออุตสาหกรรมเพลงและหนึ่งในสามค่ายเพลงใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ SM Entertainment เป็นบริษัทค่ายเพลงที่ผลิตศิลปินนักร้องมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกและเป็นค่ายเพลงแรก ๆ ที่สามารถบุกตลาดเพลงที่ต่างประเทศได้ ซูเปอร์จูเนียร์ (Super Junior) เป็นศิลปินกลุ่มชายสังกัดค่ายเพลง SM Entertainment ที่มีจำนวนสิบสามคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดในช่วงยุคแรก ๆ และเป็นวงที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจากศิลปินกลุ่มทั่วไป ทั้งในด้านของ Performance และสไตล์การร้อง นอกจากนี้สมาชิกทุกคนมีความสามารถในด้านวงการบันเทิงและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน แต่สามารถสร้างความลงตัวระหว่างกันได้ อีกทั้งยังมีความเป็นกันเองต่อแฟนคลับและมีทัศนคติที่ดีต่อการตอบคำถามของสื่อ ซูเปอร์จูเนียร์เป็นศิลปินของค่ายที่ไม่เพียงแค่สามารถเจาะตลาดเพลงต่างประเทศได้เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างกระแสฮันรยูไปทั่วโลกด้วยเพลง Sorry Sorry และมีแฟนคลับที่ยังคงติดตามและสนับสนุนผลงานมาสิบกว่าปี ปัจจุบันซูเปอร์จูเนียร์ถือเป็นศิลปินกลุ่มวงแรกที่มีค่ายเพลงเป็นของตัวเอง ชื่อว่า SJ Label ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ความสำเร็จของ BIGBANG ต่อวงการดนตรีเกาหลีใต้

โดย นางสาวชลธิชา  ชะโลธร บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและผลงานเพลงของวง BIGBANG ศิลปินกลุ่มชายจากประเทศเกาหลีใต้ และเพื่อศึกษาแนวดนตรีและพัฒนาการทางดนตรีของวง BIGBANG ตั้งแต่ปี ค.ศ.2006-2015 รวมถึงศึกษาอัตลักษณ์เฉพาะของวง BIGBANG ที่ทำให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังศึกษาอิทธิพลที่ส่งผลต่อบรรดาศิลปินกลุ่มอื่นๆในรุ่นต่อมาและต่อวงการดนตรีเกาหลี ซึ่ง BIGBANG คือศิลปินกลุ่มชายของประเทศเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จมากที่สุดกลุ่มหนึ่งและมีอิทธิพลต่อวงการดนตรีเกาหลีใต้ในปัจจุบัน โดยศึกษาประวัติของบริษัทค่ายเพลง YG Entertainment ซึ่งเป็นบริษัทต้นสังกัด และศึกษาประวัติของ BIGBANG ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 – 2015 ทั้งประวัติของสมาชิกในวง การเปลี่ยนแปลงของแนวเพลงที่ใช้ และอัตลักษณ์ของ BIGBANG ที่ใช้แนวดนตรี HIP-HOP มาผสมผสานกับแนวดนตรีอื่นๆ รวมทั้งจากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างของกลุ่มแฟนคลับ BIGBANG จำนวน 500 คน จากการรวบรวมแบบสอบถามพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ BIGBANG ประสบความสำเร็จคือแฟนคลับ แฟนเพลง บริษัทค่ายเพลงต้นสังกัด ความสามารถของศิลปิน อัตลักษณ์เฉพาะของดนตรี เป็นต้น ความสำเร็จของ BIGBANG ส่งผลไปสู่ศิลปินรุ่นหลังๆและในวงการดนตรีเกาหลีใต้ รวมถึงรางวัลต่างๆที่ BIGBANG ได้รับ … Read more

ปัจจัยที่ทำให้ไทเปมีความต้องการเป็น Creative City

โดย นายล้ำเลิศ ไตรรัตน์ธนวงศ์ บทคัดย่อ เมืองสร้างสรรค์ (Creative City) คือเมืองหรือพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำงานเชิงสร้างสรรค์และการมีปฎิสัมพันธ์กันระหว่างผู้ทำงานเชิงสร้างสรรค์รวมถึงการจัดหาพื้นที่เพื่อการแสดงออกของกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์องค์ประกอบสำคัญของเมืองสร้างสรรค์ตามที่ UNESCO ประกาศ คือ (1) การสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้แก่เมือง (Cultural Identity) (2) การสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมให้มีความเปิดกว้าง (Diversity & Open Society) (3) การรวบรวมนักคิดและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ (Talent/Creative Entrepreneur) (4) การสร้างพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก (Space & Facility)(5) การบริหารจัดการเมือง (Management) งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้ทำการศึกษาปัจจัยความต้องการเป็น Creative Cityของไทเปผ่านการศึกษาองค์ประกอบทั้ง 5ข้างต้นโดยทำการสัมภาษณ์คนในท้องถิ่นไทเปรวมถึงนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวในกรุงไทเปและศึกษาปัจจัยความต้องการเป็น Creative City ของกรุงไทเปผ่าน เอกสารงานวิจัยข้อมูลข่าวสารและการลงพื้นที่จริง ผลการวิจัยพบว่าสาเหตุที่ทำให้ไทเปยังมิได้การรับรองจากทาง UNESCO ให้เป็น Creative City เนื่องจาก (1)ประชาชนชาวไทเปเองยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องขององค์ประกอบการเป็นเมืองสร้างสรรค์อย่างสมบูรณ์นักและ (2)ในด้านขององค์ประกอบการเป็นเมืองสร้างสรรค์ในข้อที่ 2 การสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมให้มีความเปิดกว้าง (Diversity & Open Society) ตามที่ UNESCO … Read more

กระบวนการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ Creative city กรณีศึกษา : เมืองเซี่ยงไฮ้

โดย นางสาวพิชชาพัชร สัตยารักษ์ บทคัดย่อ Creative City หรือเมืองสร้างสรรค์ คือการร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทาง เศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อไปสู่การเป็นเมืองที่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industry) การเป็น Creative City  นั้นจะต้องมีการสร้างสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ ทางวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์งานตามองค์ประกอบสำคัญ ของเมืองสร้างสรรค์ได้แก่ 1) การสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้แก่เมือง (Cultural Identity) 2) การสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมให้มีความเปิดกว้าง (Diversity & Open Society) 3) การรวบรวมนักคิดและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ (Talent/Creative Entrepreneur) 4) การสร้างพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก (Space & Facility) 5) การบริหารจัดการเมือง (Management) งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้ทำการศึกษากระบวนการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ Creative city กรณีศึกษาเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยผ่านการการศึกษาองค์ประกอบทั้ง 5 ข้างต้น รวมถึงการศึกษากระบวนการพัฒนาเพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน … Read more

การวิเคราะห์ภาพยนตร์กรณีศึกษาภาพยนตร์ เรื่อง เทียนมีมี่ 3650 วัน…รักเธอคนเดียว

โดย นางสาวพัฒชา กาแก้วเจริญ บทคัดย่อ การศึกษาวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ภาพยนตร์กรณีศึกษาภาพยนตร์เรื่อง เทียนมีมี่ 3650 วัน…รักเธอคนเดียว โดยวิเคราะห์จากองค์ประกอบของบทละครทำให้ได้รู้รายละเอียดที่สำคัญและสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อแก่ผู้ชมและยังได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมเกาะฮ่องกงในช่วงระยะเวลาปี 1987-1997 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลา 10 ปีที่มีความหมายเมื่อปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

ข้อเปรียบเทียบระหว่างคีแซง (หญิงผู้ให้ความบันเทิงแก่ชนชั้นสูงชาวเกาหลี) ในซีรี่ย์เรื่องฮวางจินยี จอมนางหัวใจทรนง กับวิถีชีวิตและความเป็นคีแซงที่แท้จริง

โดย นางสาวนวินดา เพ็ชรศิริ บทคัดย่อ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นคีแซงที่แท้จริง โดยศึกษาผ่านละครโทรทัศน์เรื่อง “ฮวางจินยี หัวใจทระนง” (HWANG JIN-I) คีแซงเป็นผู้หญิงที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชายในชนชั้นสูงชาวเกาหลี มีลักษณะคล้ายกับเกอิชาของประเทศญี่ปุ่น คีแซงเป็นศิลปินที่มีบทบาทในการพัฒนาศิลปะของเกาหลี ซึ่งจะต้องมีความชำนาญในหลายๆด้านโดยเฉพาะ การร่ายรำ การบรรเลงดนตรี การประพันธ์บทกวี ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง แต่ความสามารถของคีแซงกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร อันเนื่องมาจากฐานะทางสังคมที่เป็นเพียงชนชั้นต่ำ ทำให้คีแซงถูกมองว่า เป็นเพียงของเล่นของเหล่าชายชนชั้นสูงเท่านั้น ผลของการศึกษาสรุปได้ว่า คีแซงจะเปรียบตนเองเป็นศิลปิน มีหน้าที่อุทิศตนเองให้ศิลปะ แม้ว่าจะมีความสามารถทางศิลปะมากเพียงใดก็ยังคงไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร เนื่องจากการแบ่งชนชั้นทางสังคมที่ชัดเจน ภายใต้รากฐานของลัทธิขงจื๊อใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับชนชั้นมากกว่าชีวิตคน โดยมีลักษณะสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้คีแซงยิ่งถูกลดค่าความเป็นคนและยังคงถูกมองว่า เป็นเพียงหญิงชนชั้นต่ำ มีหน้าที่สร้างความสุขให้แก่ชนชั้นสูงผ่านทางศิลปะและทางร่างกายเท่านั้น ดาวน์โหลด บทความวิจัย

กระแสนิยมของเพลงฮิปฮอปเกาหลีใต้ กรณีศึกษา : รายการ Show me the money Season 4

โดย นางสาวฐิตาภา  ขวัญทอง บทคัดย่อ สารนิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาพัฒนาการของวงการเพลงฮิปฮอปเกาหลีใต้ ประวัติความเป็นมาตลอดจนความสำเร็จของรายการ Show me the money ฤดูกาลที่ 4 ต่อวงการเพลงฮิปฮอปเกาหลีใต้ และปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เพลงฮิปฮอปเป็นที่นิยมในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน การศึกษาในครั้งนี้ศึกษาจากการค้นคว้า รวบรวมข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และจากการจัดทำแบบสอบถามทางอินเทอร์เน็ต แบ่งเนื้อหาการศึกษาออกเป็น 4 บท ดังนี้ บทที่ 1 บทนำ กล่าวถึงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา วัตถุประสงค์ของการศึกษา ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ขอบเขตของการศึกษา ขั้นตอนของการศึกษา และเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง บทที่ 2 ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของเพลงฮิปฮอปและรายการ Show me the money บทที่ 3 กล่าวถึงผลการสำรวจกลุ่มคนเกาหลีใต้ที่ชื่นชอบเพลงฮิปฮอปและรายการ Show me the money ฤดูกาลที่ 4 จากแบบสอบถามทางอินเทอร์เน็ต สาเหตุของการประสบความสำเร็จของรายการ Show me the money ฤดูกาลที่ 4 และปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เพลงฮิปฮอปเป็นที่นิยมในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน … Read more

อิทธิพลของลัทธินับถือภูตผีและวิญญาณ (Shamanism) ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบศิลปะการแสดงพื้นเมืองของเกาหลี การแสดงชอยงมู(처용무 : Cheoyongmu)

โดย นางสาวกุลทรัพย์ เร่งสมบูรณ์สุข บทคัดย่อ การศึกษาหัวข้อเรื่อง อิทธิพลของลัทธินับถือภูตผีและวิญญาณ (Shamanism) ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบศิลปะการแสดงพื้น เมืองของเกาหลี การแสดงชอยงมู (처용무 : Cheoyongmu) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและรูปแบบของการแสดงชอยงมู และ ศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องหมอผีหรือคนทรงเจ้าของคนเกาหลี ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบการแสดงชอยงมู โดยจากการรวบรวมข้อมูล และ ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และ สื่อวิดีทัศน์ที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาพบว่า การแสดงชอยงมู เป็นการแสดงพื้นบ้านอย่างหนึ่งของเกาหลี ที่จัดอยู่ในหมวดการแสดงในราชสำนัก โดยการแสดงจัดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่ เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ให้เกิดความเป็นมงคล และ ขอให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ซึ่งที่มาของการแสดงนี้ เกิดจากเรื่องเล่าที่มีพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีและวิญญาณ โดยเป็นเรื่องเล่าของผู้ชายชื่อชอยง ที่โกรธเคืองวิญญาณร้ายที่มาหลับนอนกับภรรยาของตน ชอยงจึงร่ายรำออกมาเป็นท่าทางที่สวยงาม จนปีศาจประทับใจ และสัญญาว่าจะไม่ย่างกรายไปในที่ ๆ มีชอยงอยู่ ตามตำนาน ผู้แสดงจึงใส่หน้ากากที่มีความหมายถึงชอยงเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย และ มีท่าทางการร่ายรำที่สื่อถึงการติดต่อเทพเจ้า นอกจากนี้ ลักษณะการรำยังแฝงแนวความคิดหยิน – หยาง ว่าด้วยความแตกต่างกลมกลืนของสรรพสิ่งในธรรมชาติ สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ดาวน์โหลด บทความวิจัย

แรงบันดาลใจของเยาวชนไทยต่อวงการดนตรีเกาหลีใต้

โดย นางสาวมาลัยโย บุญลือพันธ์ บทคัดย่อ สารนิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาถึงแรงบันดาลใจของเยาวชนไทยที่สนใจเข้ารับคัดเลือกเป็นศิลปินกับค่ายเพลงเกาหลีใต้และมูลเหตุของปัจจัยที่ทำให้เยาวชนไทยได้รับโอกาสเป็นศิลปินเกาหลีใต้มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนรวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้จัดการฝ่ายบริหารจัดการศิลปิน บริษัท Mono Talent Studio/ Mono Music รวมถึงเยาวชนไทยที่เป็นเด็กฝึกหัดของค่ายเพลงเกาหลีใต้และเยาวชนไทยที่มีประสบการณ์เข้ารับคัดเลือกเป็นศิลปินเกาหลีใต้ โดยศึกษารวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงผ่านแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ และแบบสอบถามทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงเอกสารวิจัยที่เกี่ยวข้อง สื่อออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงมูลเหตุตามจุดประสงค์ดังกล่าวข้างต้น เราจะได้ศึกษาถึงทัศนคติของเยาวชนไทยและตัวแทนจากค่ายเพลงที่มีต่อวงการดนตรีเกาหลีใต้และไทย รวมถึงปัจจัยต่างๆที่ทำให้เยาวชนไทยได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินเกาหลีใต้มากที่สุดในอาเซียนทั้งๆที่ประเทศเกาหลีใต้ชาตินิยมสูง อะไรคือสิ่งที่ค่ายเพลงเกาหลีใต้ยอมรับและมองเห็นในศักยภาพของเยาวชนไทยประเทศไทย ตลอดจนมุมมองความแตกต่างของวงการดนตรีเกาหลีใต้และไทย โดยหวังว่าสารนิพนธ์ฉบับนี้จะสามารถรวบรวบข้อมูลที่เป็นประโยชน์สร้างแรงบันดาลใจกำลังใจต่อเยาวชนไทยที่มีความใฝ่ฝันเป็นศิลปินเกาหลีใต้ตลอดจนผู้สนใจเกี่ยวกับเยาวชนไทยในวงการดนตรีเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยขับเคลื่อนความสำเร็จของกระแส K-Pop เป็นกรณีศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของวงการดนตรีไทยสืบต่อไป หมายเหตุ ติดต่อขอดูบทความวิจัยฉบับเต็มได้ที่ คุณบุรียา แตงพันธุ์ งานบริการการศึกษา คณะอักษรศาสตร์

ปัญหาสังคมญี่ปุ่นที่สะท้อนจากการ์ตูนเรื่อง Colorful

โดย นางสาวลลิตา วงแหวน บทคัดย่อ บทความทางวิชาการเรื่อง ปัญหาสังคมญี่ปุ่นที่สะท้อนจากการ์ตูนเรื่อง Colorful มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยเด็ก ปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ปัญหาการคาดหวังในสังคม และปัญหาการขายบริการทางเพศในวัยเด็ก โดยศึกษาจากการค้นคว้าข้อมูลผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ต่างๆที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาสังคมญี่ปุ่นนั้นเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน ซึ่งปัจจัยแรกนั้น คือ เกิดจากค่านิยมและอุดมการณ์ของคนญี่ปุ่นที่ต้องการจะเป็นใหญ่เหนือชาติอื่น ซึ่งสามารถเห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นพยายามยึดครองประเทศต่างๆ ในเอเชียและช่วงหลังสงครามที่พัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกภายในเวลาไม่กี่ทศวรรษได้ และอีกปัจจัยหนึ่ง คือ เกิดจากสังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมทุนนิยม ซึ่งแม้ว่าประชากรจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สุขสบายขึ้น แต่สังคมทุนนิยมก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ เป็นสังคมที่มีแต่ความเร่งรีบ ความกดดันและความเครียดสูง ผู้คนต่างคนต่างอยู่ และเป็นสังคมบริโภคนิยม ด้วยเหตุนี้ จึงก่อให้เกิดปัญหาสังคมดังกล่าวขึ้นในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในกรณีปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยเด็กนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การพัฒนาสู่เมืองสร้างสรรค์ กรณีศึกษา : เมืองอีชอน ประเทศเกาหลีใต้

โดย นางสาวณิชมน  มีเจริญสุข บทคัดย่อ การทำวิจัยเรื่องการพัฒนาสู่เมืองสร้างสรรค์ กรณีศึกษาเมืองอีชอน ประเทศเกาหลีใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหมายและคุณลักษณะของเมืองสร้างสรรค์ และ เพื่อวิเคราะห์แนวทางการจัดการและพัฒนาไปสู่เมืองสร้างสรรค์ของเมืองอีชอน โดยได้ทำการศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและนำมาวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามจากองค์ประกอบสำคัญของเมืองสร้างสรรค์ 5 ข้อ และเกณฑ์ทั้ง 7 ข้อในการตัดสินสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO จากการศึกษาพบว่าเมืองอีชอนมีคุณลักษณะที่ตรงตามองค์ประกอบและเกณฑ์การตัดสินของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ครบทุกประการ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ทางด้านเซรามิกซึ่งเป็นศิลปะของท้องถิ่น มีองค์การบริหารเมืองอีชอนเป็นหน่วยงานที่ดูแลและสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและสภาพแวดล้อมของเมืองให้เอื้อต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มีการแบ่งเขตเมืองวัฒนธรรมเก่าคือย่านหมู่บ้านเซรามิกอีชอนและเขตวัฒนธรรมใหม่ในย่านใจกลางเมืองเพื่อเป็นเขตอนุรักษ์กับเขตเศรษฐกิจ มีการจัดตั้งคณะกรรมการการจัดงานเซรามิกอีชอนเพื่อจัดงานเทศกาลเซรามิกระดับโลกร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและภาคเอกชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าหน่วยงานต่างๆ ภายในเมืองอีชอนได้มีการประสานและทำงานร่วมกัน มีการวางรากฐานในการทำงานร่วมกันและดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและจะดำเนินต่อไปอีกในอนาคต ซึ่งด้วยคุณลักษณะต่างๆ ของเมืองเหล่านี้ที่ตรงกับคำนิยามของ UNESCO จึงทำให้เมืองอีชอนได้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในปี 2010 ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การจัดการโรงละครนันทา กรณีศึกษา : โรงละครนันทา กรุงเทพฯ

โดย นางสาวพฤษวรรณ  น้อยพิทักษ์ บทคัดย่อ การทำวิจัยเรื่องการจัดการโรงละครนันทา กรณีศึกษาโรงละครนันทา กรุงเทพฯ นี้มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อศึกษาที่มาและพัฒนาการของการแสดง“นันทา” ศิลปะการแสดงร่วมสมัยประเทศเกาหลีใต้และเพื่อศึกษาการจัดการโรงละครนันทา จากประเทศเกาหลี สู่โรงละครนันทาสาขาย่อยในประเทศไทย โดยการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร และบทสัมภาษณ์ต่างๆ รวมถึงการเข้าร่วมสังเกตการณ์ ณ โรงละครนันทา กรุงเทพฯ และ โรงละครนันทา เมียงดง เพื่อนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์รูปแบบการจัดการโรงละครนันทาจากประเทศเกาหลีใต้ สู่การตั้งโรงละครนันทาสาขาย่อยในประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า การจัดการโรงละครนันทานั้น อาศัยหลักการจัดการธุรกิจ 4M และใช้แนวคิดในการณ์ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ว่า “คิดระดับโลกแต่กระทำระดับท้องถิ่น (Think globally, act locally)” ทำให้สามารถผลิตการแสดงที่สามารถสื่อถึงวัฒนธรรมของประเทศเกาหลี ให้สู่สากลได้รับรู้โดยไร้กำแพงทางด้านภาษา และยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านอาหารจากศิลปะการแสดงละครประเภทละครโทรทัศน์ กรณีศึกษาละครโทรทัศน์เกาหลี เรื่อง Let’s Eat

โดย นางสาวปวีนา  งามเลิศ บทคัดย่อ บทความทางวิชาการเรื่อง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านอาหารจากศิลปะการแสดงละครประเภทละครโทรทัศน์ กรณีศึกษาละครโทรทัศน์เกาหลี เรื่อง Let’s eat มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการส่งออกทางวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ที่มีการส่งผ่านสื่อบันเทิงของประเทศเกาหลีใต้ โดยศึกษาจากการค้นคว้าข้อมูลผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ต่างๆที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยหลักที่สนับสนนุการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ คือ สื่อบันเทิง โดยเฉพาะละครโทรทัศน์เกาหลีที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขว้างทั้งในแถบเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป ทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักวัฒนธรรมเกาหลีผ่านสื่อบันเทิงนี้ ทั้ง วิถีชีวิต เสื้อผ้า และอาหาร ซึ่งอาหารนี้ก็ถือเป็นอย่างหนึ่งในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และละครโทรทัศน์เรื่อง Let’s Eat ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่นำเสนอให้ต่างชาติรับรู้ถึงอาหารเกาหลีแท้ๆ ผ่านการแสดงของตัวละครในเรื่อง และช่วยกระตุ้นให้ชาวต่างชาติต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารเกาหลีมากขึ้น  นับได้ว่าละครโทรทัศน์เรื่องนี้ เป็นอีกแรงกระตุ้นในการเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารยังประเทศเกาหลีใต้ ดาวน์โหลด บทความวิจัย

การวิเคราะห์ลักษณะนิสัยของตัวละครจากละครเกาหลีเรื่อง Dream High

โดย นางสาวณัฐกมล พ่วงศรี บทคัดย่อ บทความทางวิชาเรื่อง การวิเคราะห์ลักษณะนิสัยของตัวละครจากละครเกาหลีเรื่อง Dream High มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตัวละครหลักในเรื่องเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของตัวละคร และปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของตัวละคร โดยศึกษาจากการค้นคว้าข้อมูลผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้อง ในเรื่องของละครโทรทัศน์ วิธีการสร้างตัวละคร และข้อมูลทางด้านจิตวิทยา ผลการศึกษาพบว่าลักษณะตัวละครทั้ง 6 สรุปได้ว่า ลักษณะนิสัยตัวละครแต่ละตัวขึ้นอยู่กับสถานะทางบ้าน การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมที่แต่ละตัวละครพบต่างกัน ทำให้ตัวละครแต่ละตัวมีนิสัยต่างกันออกไป แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัจจัยซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของตัวละคร ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของตัวละครคือ ความนึกคิดของแต่ละตัวละครเองว่าเลือกที่จะปฏิบัติออกมาแบบใด ส่วนของเนื้อหาของละครโทรทัศน์เรื่องนี้ ให้ข้อคิดว่า ทุกคนมีข้อบกพร่องของตนเอง อยู่ที่ตัวบุคคลเลือกจะแก้ไขให้ดีขึ้น หรือแย่ลง ในส่วนนี้แต่ละตัวละครเลือกจะแก้ไขข้อบกพร่องของจนเองจนประสบความสำเร็จ และกลายเป็นคนที่ดีขึ้นในท้ายที่สุด ดาวน์โหลด บทความวิจัย